ถามมาตอบไปกับ 10 เรื่องการคุมกำเนิดสัตว์เลี้ยง
คำถามที่คุณหมอจะต้องตอบเจ้าของสัตว์อยู่บ่อยๆ นอกจากปัญหาสุขภาพทั่วไปแล้ว เรื่องการคุมกำเนิดน้องหมาน้องแมวนี่แหละที่เป็นคำถามยอดฮิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำหมัน หรือคำถามว่าทำไมไม่ควรฉีดยาคุม ยาวไปจนถึงการตรวจท้องน้องหมาน้องแมว
เนื่องในโอกาสครบรอบ 84 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาร์ทฮาร์ท โซเอทิส และ application สำหรับสัตว์เลี้ยง MUMU Petguide ในโครงการ Smart Vet Smart Society เพื่อส่งเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้ดีขึ้น ทีมคุณหมอจากคลินิกสูติกรรม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมาช่วยไขข้อข้องใจกับ 10 เรื่องการคุมกำเนิดสัตว์เลี้ยงที่ทุกคนควรรู้
Q: ถ้ามีสัตว์เลี้ยงเพศเมียตัวเดียวในบ้าน ไม่มีตัวผู้ ควรทำหมันหรือไม่
A: ควร เพราะช่วยป้องกันโรคทางระบบสืบพันธุ์ เช่น ภาวะมดลูกอักเสบ และเนื้องอกระบบสืบพันธุ์
Q: สามารถวางยาผ่าตัดทำหมัน สัตว์เลี้ยงได้ตั้งแต่ อายุเท่าไหร่
A: สามารถวางยาผ่าตัดทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป
Q: สัตว์เลี้ยงที่เป็นทองแดง (อัณฑะไม่ลงถุงหุ้มอัณฑะไม่ครบทั้ง 2 ข้าง) ควรทำหมันหรือไม่
A: ควร เนื่องจาก อัณฑะที่ไม่ลงถุงหุ้มอัณฑะ มีโอกาสพัฒนาเป็นเนื้องอกอัณฑะเมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น
Q: สัตว์เลี้ยงเพศผู้ต้องทำหมันหรือไม่
A: ควร เพื่อป้องกันโรคทางระบบสืบพันธุ์เพศผู้ เช่น ความผิดปกติของต่อมลูกหมาก และอัณฑะ
Q: ถ้าสัตว์เลี้ยงเพศผู้ไม่สามารถผสมกับสัตว์เลี้ยงเพศเมียได้เอง ควรทำอย่างไร
A: สามารถใช้วิธีการผสมเทียมโดยการรีดเก็บน้ำเชื้อเพศผู้ และ สอดท่อผสมเทียม หรือ ผ่าตัดผสมเทียม
Q: สุนัขเพศผู้ที่เป็นทองแดง สามารถผสมติดได้หรือไม่ และควรนำไปเป็นพ่อพันธุ์ต่อหรือไม่
A: สามารถผสมติดได้ แต่ไม่ควรนำไปผสมเนื่องจาก ภาวะทองแดงสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
Q: ถ้าไม่สามารถพาสัตว์เลี้ยงมาผ่าตัดทำหมัน เจ้าของสามารถฉีดยาคุมได้หรือไม่
A: ไม่ได้ เนื่องจาก ฮอร์โมนจากยาคุมกำเนิด สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์ได้ เช่น มดลูกอักเสบ มะเร็งเต้านม เนื้องอกระบบสืบพันธุ์ และถ้าฉีดในช่วงที่สัตว์เลี้ยงกำลังตั้งท้อง จะทำให้เกิดภาวะคลอดไม่ออก และลูกเสียชีวิต
Q: ถ้าคลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม ต้องพาสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์และทำการรักษาหรือไม่
A: ควร เนื่องจากก้อนเนื้อที่เต้านมมีโอกาสเป็นเนื้องอกเต้านมได้ โดยในสุนัขเพศเมีย ประมาณ 50% มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม และในแมวเพศเมียมีโอกาสมากกว่า 90%
Q: สัตว์เลี้ยงอายุมาก สามารถวางยาผ่าตัดเพื่อทำหมันได้หรือไม่
A: ได้ โดยต้องผ่านการตรวจร่างกายโดยละเอียด เช่น ตรวจเลือด, เอกซเรย์ (x-ray), ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อประเมินความเสี่ยงในการวางยาผ่าตัด
Q: สามารถตรวจการตั้งท้องในสัตว์เลี้ยงได้ตั้งแต่เมื่อใด
A: ในสุนัขและแมว สามารถตรวจการตั้งท้อง โดยการ อัลตราซาวด์ (Ultrasound) ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 21 วันขึ้นไป และสามารถเอกซเรย์ (x-ray) เพื่อประเมินจำนวนลูกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 45 วันขึ้นไป
ในสัตว์เลี้ยงพิเศษ เช่น กระต่าย สามารถตรวจการตั้งท้อง โดยการ อัลตราซาวด์ (Ultrasound) ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 14 วันขึ้นไป และสามารถเอกซเรย์ (x-ray) เพื่อประเมินจำนวนลูกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 21 วันขึ้นไป