สัตวแพทย์จุฬาฯ แนะวิธีเตรียมตัวสัตว์เลี้ยงก่อนไปทำหมัน
เป็นที่ทราบดีโดยทั่วกันอยู่แล้วว่าวิธีการคุมกำเนิดในสัตว์เลี้ยงด้วยการทำหมันนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรทำ เพราะนอกจากจะปลอดภัยกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยลดการเกิดปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรคมดลูกอักเสบ โรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
.
โดย สพ.ญ. ธิติดา ภักดีเสน่หา สัตวแพทย์แผนกสูติกรรม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาแนะนำเกี่ยวกับการทำหมันในสัตว์เลี้ยง และการเตรียมตัวก่อนการทำหมัน ในโครงการ Smart Vet Smart Society โดยความร่วมมือของ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาร์ทฮาร์ท บริษัท โซเอทิส (ประเทศไทย) จำกัด และ Application สำหรับสัตว์เลี้ยง MUMU Petguide กับเรื่องราวน่ารู้ในการเลี้ยงสัตว์ มาฝากเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคน
.
การผ่าตัดทำหมัน เป็นวิธีการคุมกำเนิดสุนัขและแมวอย่างถาวรที่ดีที่สุด สามารถทำได้ทั้งสัตว์เลี้ยงเพศผู้และเพศเมีย โดยในเพศผู้จะทำการผ่าตัดอัณฑะทั้ง 2 ข้างออก (Castration) และในเพศเมียนิยมผ่าตัดออกทั้งรังไข่ และมดลูก Ovariohysterectomy (OVH)
.
ช่วงอายุที่เหมาะสม
โดยปกติสุนัขเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่อายุประมาณ 6-9 เดือน และ 4-12 เดือน ในแมวเพศเมีย สำหรับในสุนัขและแมวเพศผู้นั้นจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 6-7 เดือน โดยเราสามารถทำหมันก่อนวัยเจริญพันธุ์ได้ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงอายุ 3 เดือนขึ้นไป และไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดที่อายุน้อยกว่านี้เนื่องจากจะมีความเสี่ยงในการวางยาสลบสูง
.
ขั้นตอนการเตรียมตัวสัตว์ก่อนการผ่าตัด
- พาสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกาย
- ร่างกายแข็งแรง
- สุนัขเพศเมียต้องไม่อยู่ในช่วงแสดงอาการเป็นสัด เนื่องจากจะมีความเสี่ยงในการเสียเลือดจากการผ่าตัดมากกว่าปกติ
- สัตว์เลี้ยงต้องไม่อยู่ในช่วงตั้งท้อง
- ตรวจเลือดก่อนผ่าตัด
- ตรวจเพิ่มเติมตามสมควร เช่น X-ray Ultrasound EKG
- งดน้ำและอาหารก่อนทำการผ่าตัดอย่างน้อย 8-12 ชม.
.
การดูแลหลังผ่าตัด
- หลังผ่าตัดให้สัตว์อยู่ในที่อบอุ่น
- ให้นอนในท่าที่หายใจสะดวก ไม่ให้สัตว์นอนคอพับ
- พาสัตว์เลี้ยงไปทำแผลและฉีดยาลดปวดหลังผ่าตัดติดต่อกันอย่างน้อย 2-4 วัน
- แผลผ่าตัดจะหายเป็นปกติและสามารถตัดไหมได้ภายใน 7-10 วันหลังผ่าตัด
- ป้องกันสัตว์เลี้ยงไม่ให้เลียแทะแผล โดยการใส่ elizabethan collar หรือใส่เสื้อเพื่อป้องกันแผลผ่าตัด
- ป้องกันไม่ให้แผลเปียกน้ำ
.
ประโยชน์ของการทำหมัน
- เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวรจึงช่วยคุมประชากรและช่วยลดปัญหาสุนัขจรจัด
- ช่วยลดอุบัติการการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าและโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้กันในช่วงติดสัด
- ช่วยป้องกันโรคที่ติดต่อจากการผสมพันธุ์ เช่น แท้งติดต่อ brucellosis , มะเร็งชนิด VG
- ป้องกันโรคและความผิดปกติทางระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูกอักเสบ, เนื้องอกรังไข่, ถุงน้ำที่รังใข่และมดลูกในสัตว์เลี้ยงเพศเมีย, เนื้องอกอัณฑะในสัตว์เพศผู้ และโรคต่อมลูกหมากโต Benign Prostatic Hypertrophy (BPH) ในสุนัขเพศผู้
- ลดโอกาสการเกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์ เช่น เนื้องอกช่องคลอดในสัตว์เพศเมีย ,และการเกิดเนื้องอกเต้านมในสัตว์เพศเมียโดยจะลดโอกาสได้มากเมื่อทำหมันก่อนการเป็นสัดครั้งแรก
- ลดความรำคาญจากเสียงร้องในช่วงติดสัดของแมวเพศเมีย
- ลดพฤติกรรมการปัสสาวะเพื่อแสดงอาณาเขตของสุนัขและแมวเพศผู้
- ลดพฤติกรรมการหนีเที่ยวนอกบ้านของสัตว์เลี้ยงเมื่อเข้าสู้วัยเจริญพันธุ์
.
ผลข้างเคียงจากการทำหมัน
- น้ำหนักตัวของสัตว์เลี้ยงที่จะเพิ่มขึ้น (Overweight) ภายหลังการผ่าตัดทำหมันเนื่องจากระบบเผาผลาญมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และความอยากอาหารมากขึ้นโดยในเฉพาะสุนัขเพศเมีย เจ้าของสัตว์ควรคำนึงถึงเรื่องของอาหารควรปรับโภชนาการให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสุนัขภายหลังการผ่าตัดและเพิ่มการออกกำลังกายของสัตว์เลี้ยงให้มากขึ้น
- ภาวะปัสสาวะเล็ดหลังทำหมัน (Urinary Incontinence)
ซึ่งอาจพบได้ 5-20% ในสุนัขเพศเมียที่ทำหมันแล้ว โดยเฉพาะสุนัขที่มีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังการทำหมันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังกระเพาะปัสสาวะ หูรูด และท่อปัสสาวะ ทำงานได้ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิมจึงมีผลต่อการควบคุมปัสสาวะ
.