10 เคล็ดไม่ลับเลือกอาหารให้สัตว์เลี้ยงแข็งแรง
เทรนด์เรื่องการกินให้สุขภาพดี ไม่ได้มาแรงเฉพาะในหมู่ผู้ที่รักสุขภาพเท่านั้น เพราะบรรดาเจ้าของน้องหมาน้องแมว ก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะการกินอาหารที่ดีมีโภชนาการครบครัน ส่งผลให้น้องหมาน้องแมวแสนรักมีอายุยาวนานขึ้นกว่าการให้กินอาหารแบบไม่ใส่ใจ แถมยังช่วยลดโรคร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ และยังทำให้น้องหมาน้องแมวเราสดใสอ่อนวัยกว่าเพื่อน 4 ขาที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันด้วยนะ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 84 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกับ สมาร์ทฮาร์ท โซเอทิส และ application สำหรับสัตว์เลี้ยง MUMU Petguide ในโครงการ Smart Vet Smart Society เพื่อส่งเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้ดีขึ้น โดยจะมาร่วมไขข้อข้องใจเรื่องสุขภาพที่พบบ่อยในสัตว์เลี้ยง วันนี้คุณหมอจากคลินิกโภชนาการ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อาสามาเล่าให้ฟังถึง 10 เคล็ดไม่ลับเรื่องการให้อาหารน้องหมาน้องแมวที่จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงของเรามีสุขภาพดี๊ดี และมีอายุยืนยาวเป็นเพื่อนรักของเราไปอีกนานแสนนาน
คำถาม 1 : อาหารอะไรบ้างที่สุนัขกินไม่ได้ หรือไม่ควรกิน
คำตอบ : อาหารที่เป็นพิษกับสุนัขอาจจะเป็นของที่เจ้าของชอบกิน และคิดว่าอร่อย ได้แก่
- ช็อกโกแลต กาแฟ และคาเฟอีน เนื่องจากมีสารประกอบที่ชื่อว่า methylxanthine ซึ่งอยู่ในเมล็ดโกโก้ มีผลทำให้อาเจียน ท้องเสีย หอบ ปัสสาวะบ่อย ใจสั่น กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง จนอาจถึงขั้นชัก และหัวใจวาย และเสียชีวิตได้
- องุ่น หรือลูกเกด เนื่องจากทำให้ไตวายได้
- ถั่วแมคคาเดเมีย เนื่องจากทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึม อาเจียน กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง เป็นอัมพาตได้ มักมีอาการหลังจากการกิน 12 ชั่วโมง
- หัวหอม กระเทียม เนื่องจากทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
- นมวัว เนื่องจากมีน้ำตาลชื่อ แลคโตส ซึ่งสัตว์ไม่สามารถย่อยน้ำตาลชนิดนี้ได้ ส่งผลให้ท้องเสีย และท้องอืดได้
- เกลือ และขนมที่มีรสเค็ม เนื่องจากการได้รับเกลือมากเกินไปจะทำให้สัตว์กระหายน้ำมาก และปัสสาวะมากกว่าปกติ หรือถ้าได้รับเกลือมากเกินไป จะทำให้เกิดความเป็นพิษจากโซเดียมซึ่งเป็นส่วนประกอบของเกลือ กล่าวคือมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ซึม กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง อาจถึงขั้นชักและเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรระวังการให้ขนมที่มีรสชาติเค็มมากๆเช่น มันฝรั่งอบกรอบ หรือข้าวโพดคั่วรสเค็ม แก่สัตว์เลี้ยง
- น้ำตาล xylitol เป็นสารปรุงรสหวานในหลายผลิตภัณฑ์ เช่นหมากฝรั่ง ขนมหวานหลายชนิด และยาสีฟัน ซึ่งสารนี้จะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และนำไปสู่ภาวะตับวายอีกด้วย อาการแสดงจะเห็นว่ามีอาการอ่อนแรง เสียความสามารถในการทรงตัว
- แป้งยีสต์ แป้งขนิดนี้เป็นแป้งที่เกิดการหมัก ยีสต์จะมีการสร้างแก๊สออกมา สะสมในทางเดินอาหารเยอะมาก ส่งผลให้ท้องอืดอย่างรุนแรง และอาจทำให้เกิดกระเพาะบิดตามมาได้ นอกจากนี้ยีสต์ยังสร้างแอลกอฮอล์ออกมาด้วย ส่งผลให้เกิดอาการเมา และเสียการทรงตัวได้
- มะพร้าว และน้ำมันมะพร้าว ถ้ากินในปริมาณเล็กน้อยอาจไม่ส่งผลต่อสัตว์มาก ส่วนของเนื้อ แลน้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยไขมันปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้สัตว์ท้องอืด หรืออาจจะทำให้ท้องเสียได้ นอกจากนี้ส่วนน้ำของมะพร้าวมีโพแทสเซียมสูงมาก และไม่ควรให้แก่สัตว์เลี้ยง
- ผลไม้ตระกูลส้มและมะนาว เนื่องจากมีกรดซิตริก และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคือง และ ถ้าได้รับในปริมาณที่มากพอจะทำให้เกิดการกดระบบประสาทส่วนกลางได้ อย่างไรก็ตามการกินผลไม้ปริมาณเล็กน้อย อาจจะไม่ได้ทำให้มีอาการไม่พึงประสงค์อย่างชัดเจน อย่างมากก็แค่ทำให้ทางเดินอาหารทำงานลดลง
คำถามที่ 2 : โรคไตในสัตว์เกิดจากอะไร รักษาหายหรือไม่
คำตอบ : โรคไตในสัตว์เลี้ยงนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ โลหิตจาง สารพิษ ความเสื่อมของไต และ การอุดตันทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งการจะตอบว่ารักษาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคนั้นๆ และการฟื้นตัวของสัตว์ หลังจากกำจัดสาเหตุนั้นๆ ออกไปแล้ว
คำถามที่ 3 : อาหารเม็ดเค็มจริงหรือไม่
คำตอบ : อาหารเม็ดสำหรับสัตว์นั้น ต้องผ่านการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารมาแล้วระดับหนึ่ง ดังนั้นการจะมีระดับโซเดียมที่มากเกินไปนั้น มักไม่ค่อยเกิดขึ้น อีกทั้งอาหารเม็ดมักผ่านการคำนวณ เพื่อให้มีสารอาหารที่ครบถ้วน และ สมดุล ทั้งสารอาหาร และแร่ธาตุต่างๆ อย่างเหมาะสมกับสุนัขแต่ละช่วงอายุ และสายพันธุ์ ส่วนมากอาหารเม็ดที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์แล้ว จึงมักไม่มีรสชาติเค็มเกินไปแน่นอน นอกจากนี้การให้สัตว์เลี้ยงกินอาหารปรุงเอง แล้วทำการปรุงรสลงไปด้วยเกลือแกง ซีอิ๊วขาว อาจทำให้สัตว์ได้รับปริมาณโซเดียมที่เกินได้มากกว่าการให้อาหารสำเร็จรูปเสียอีก
อันที่จริงแล้วความอร่อยของอาหารสุนัขและแมวไม่ได้อยู่ที่ความเค็ม ดังนั้นการใส่เกลือโซเดียมในการผลิตจึงเป็นการใส่เพื่อผลของความต้องการด้านแร่ธาตุเป็นหลัก ซึ่งหากเจ้าของดมกลิ่นอาหารอาจเข้าใจว่าอาหารเค็มเนื่องจากมีกลิ่นที่ค่อนข้างคาวซึ่งสุนัขและแมวชอบ แต่หากลองชิมแล้วจะทราบเลยว่าจริงๆแล้วอาหารสุนัขและแมวส่วนมากไม่มีความเค็มเลย
คำถามที่ 4 : ทำไมสัตว์ที่เป็นโรคไตจึงควรกินอาหารโรคไต
คำตอบ : เนื่องจากในสภาวะปกติ ไตจะทำหน้าที่รองรับเลือดทั้งหมดจากร่างกายเพื่อกรองของเสียออก ไตมีหน่วยย่อยเล็กๆเรียกว่า “หน่วยไต” เลือดทั้งหมดนั้นจะผ่านหน่วยไตทั้งหมด เมื่อสัตว์เป็นโรคไต จะมีหน่วยไตบางส่วนที่เสียไป ส่งผลให้หน่วยไตส่วนที่เหลือต้องรองรับเลือด และหน้าที่กรองของเสียที่หนักขึ้น มีงานวิจัยว่าหากบริโภคโปรตีนมาก จะทำให้เลือดไปที่ไตมากขึ้น ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้นด้วย ดังนั้นการจำกัดโปรตีนจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดโหลดการทำงานของไต
คำถามที่ 5 : นิ่วเกิดจากอะไร
คำตอบ : นิ่วมีหลายชนิด แต่ละชนิดเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน ในที่นี้จะพูดถึงนิ่วที่พบบ่อย ได้แก่
- นิ่วสตรูไวท์ (struvite) ในสุนัขเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แต่ในแมวมักเป็นแบบไม่ติดเชื้อ
- นิ่วแคลเซียมออกซาเลท (calcium oxalate) นิ่วชนิดนี้มักเกิดจากการได้รับแคลเซียมที่มากเกินไป หรือมีภาวะของเมตาบอลิสมของแคลเซียมที่ผิดปกติ
- นิ่วยูเรต (urate) มักเกิดจากความผิดปกติของตับ
เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเกิดนิ่วนั้นเกิดด้วยหลักการตกผลึก ดังนั้นต้องมีปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มข้นของปัสสาวะร่วมด้วยเสมอ หากปัสสาวะเข้มข้นมาก ย่อมมีโอกาสในการเกิดนิ่วมากขึ้นตามไปด้วย
คำถามที่ 6 : อาหารสลายนิ่ว สลายนิ่วได้อย่างไร
คำตอบ : มีนิ่วเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถละลายได้ด้วยอาหาร โดยการปรับ pH ของปัสสาวะ เพื่อให้นิ่วชนิดที่ละลายได้ สามารถละลายได้ โดยชนิดของอาหารต้องเลือกตามชนิดของนิ่ว โดยต้องใช้ระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม นิ่วที่สามารถละลายได้ส่วนมากจะเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากมีระยะเวลาที่แช่ในปัสสาวะนานกว่านิ่วในไต และนิ่วในท่อปัสสาวะ นอกจากนี้ในขณะที่กินอาหารสลายนิ่ว ไม่ควรกินอาหารอื่นๆ รวมถึงขนมขบเคี้ยว และอาหารคน เนื่องจากจะทำ pH ของปัสสาวะเปลี่ยน ทำให้ไม่สามารถสลายนิ่วได้
คำถามที่ 7 : เบาหวานคืออะไร
คำตอบ : เบาหวานคือภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้านี้ดึงน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานภายในร่างกาย เมื่อขาดฮอร์โมนนี้ทำให้ร่างกายดึงน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ทำให้เห็นว่าน้ำหนักตัวลดลง ทั้งๆที่กินเยอะขึ้น และดูหิวตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องรักษาโดยการฉีดอินซูลินให้สัตว์ เพื่อให้สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้นั่นเอง
คำถามที่ 8 : สัตว์ที่เป็นเบาหวานทานอะไรได้บ้าง
คำตอบ : ปัญหาในการควบคุมโรคเบาหวานคือปัญหาในการควบคุมน้ำตาลในเลือด ไม่ให้สูงเกินไป และอยู่ในช่วงที่อินซูลินสามารถทำงาน และนำน้ำตาลเหล่านั้นไปใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยต้องมีการติดตามผลการรักษาโดยการทำกราฟของน้ำตาลภายหลังจากการฉีดอินซูลิน เพื่อประเมินว่าขนาดของอินซูลินที่ฉีดอยู่สามารถควบคุมเบาหวานได้ดีเพียงใด โดยในการฉีดอินซูลิน ต้องฉีดหลังกินอาหาร วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง โดยชนิดของอาหารควรจะเป็นชนิดเดียวกันทุกครั้ง เพราะอาหารแต่ละชนิด หลังจากที่กินแล้ว การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดจะไม่เท่ากัน หากเราเปลี่ยนชนิดอาหาร ก็ไม่แน่ว่าอินซูลินที่ฉีดอยู่ทุกวันนั้นจะสามารถควบคุมน้ำตาลได้หรือไม่ นอกจากนี้ อาหารที่กินควรเป็นอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เช่นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการย่อย และปลดปล่อยน้ำตาลออกมาในกระแสเลือด อีกทั้งควรจะมีโปรตีน และไฟเบอร์สูง เพื่อให้สัตว์อิ่มได้นานขึ้น ในการรักษาโรคนี้ ในทางสัตวแพทย์มีอาหารเฉพาะโรคเบาหวานอยู่ แต่หากทานไม่ได้ สามารถให้สัตวแพทย์ประจำแผนกคำนวณอาหารปรุงเองที่เหมาะสมกับสัตว์ได้ เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน แต่สารอาหารอาจไม่สมดุลเท่ากับอาหารสำเร็จรูป อย่างไรก็ตามอาหารแบบปรุงเอง เจ้าของต้องมีความเคร่งครัดในการปรุงตามสูตรที่สัตวแพทย์คิดให้ โดยชั่งน้ำหนักของส่วนผสมในอาหารให้ตรงตามสูตร ไม่เช่นนั้นอาจไม่ประสบผลสำเร็จในการรักษา ส่วนพวกขนมขบเคี้ยวทุกอย่างจำเป็นต้องงด เนื่องจากจะทำให้คุมระดับน้ำตาลไม่ได้
คำถามที่ 9 : โรคหัวใจในสุนัขต้องกินยาไปตลอดชีวิตเลยใช่หรือไม่ ทำไมถึงรักษาไม่หายขาด
คำตอบ : เนื่องจากโรคหัวใจส่วนใหญ่นั้นเป็นโรคของความเสื่อม และการกินยาเป็นแค่การชะลอความเสื่อมที่เกิดขึ้น โดยลดโหลดการทำงานของหัวใจ และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้หัวใจบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น ดังนั้นการกินยา และมาตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถึงแม้ว่าจะกินยา แต่ความเสื่อมก็ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่ยาในระดับเดิมไม่สามารถคุมอาการต่อไปได้ ต้องปรับเพิ่มยาขึ้นอีก ดังนั้นห้ามขาดยาเด็ดขาดในรายของโรคหัวใจ และจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต
คำถามที่ 10 : ทำไมสัตว์ที่ทำหมันถึงอ้วน และควรกินอาหารอย่างไรดี เคยซื้ออาหารลดความอ้วนมาให้กินก็ไม่เห็นจะผอมลง
คำตอบ : ประเด็นแรกคือสัตว์ที่ทำหมัน จะทำให้อัตราการเผาผลาญลดลง รวมถึงบางตัวมีผลทำให้ความอยากอาหารมากขึ้นด้วย จึงทำให้สัตว์อ้วนง่ายกว่าปกติ ในการเลือกชนิดของอาหารนั้น ไม่ได้มีหลักการในการเลือกเป็นพิเศษแต่หัวใจหลักของการจัดการเรื่องอาหารนั้นอยู่ที่ปริมาณพลังงานที่สัตว์ได้รับต่อวันมากกว่า ดังนั้นประเด็นหลักอยู่ที่ปริมาณอาหารที่เจ้าของให้สัตว์ หากเจ้าของมีความกังวลเรื่องความอ้วนของสัตว์เลี้ยง การดูปริมาณอาหารตามข้างถุงอาหารอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์เลี้ยง หากรู้สึกว่าเริ่มมีปัญหาเรื่องอ้วน ควรปรึกษากับโภชนสัตวแพทย์เพื่อให้คำนวณปริมาณอาหารที่เหมาะสมให้กับสัตว์ และทำการปรับปริมาณเมื่อน้ำหนักตัวลดลง
ประเด็นเกี่ยวกับอาหารลดความอ้วนที่ว่ากินแล้วน้ำหนักไม่ลดลงนั้น ก็คล้ายคลึงกับที่ได้อธิบายไปในข้างต้นแล้ว ว่าถึงแม้ว่าจะทานอาหารลดความอ้วน แต่กินในปริมาณที่ไม่เหมาะสม สัตว์ก็ได้รับพลังงานเกินที่ควรได้รับ ผลสุดท้ายก็คืออ้วนเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง และอาหารลดความอ้วนมีข้อดีคือการเป็นอาหารที่มีพลังงานต่ำ มีโปรตีน และไฟเบอร์สูง เพื่อให้อยู่ท้อง ทำให้แม้ว่าสัตว์จะบริโภคในปริมาณน้อย ก็สามารถทำให้อิ่มได้นาน หากต้องการลดความอ้วนควรปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อให้คำนวณปริมาณอาหารที่เหมาะสมต่อวันให้สัตว์ รวมถึงติดตามผลของการลดน้ำหนักได้อย่างถูกต้อง กล่าวคือควรลดลงสัปดาห์ละ 1-3% ต่อสัปดาห์ ตามเกณฑ์