ตอบปัญหา 10 เรื่องแมวๆ ที่ทาสแมวสงสัย

ต้องยอมรับว่าน้องแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากความน่ารักในแบบเฉพาะสายพันธุ์แล้ว ยังมีนิสัยใจคอ และความต้องการดูแลเอาใจใส่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ทำให้หลายคนหันมาเลี้ยงน้องแมวกันมากขึ้น


เนื่องในโอกาสครบรอบ 84 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกับ สมาร์ทฮาร์ท โซเอทิส และ application สำหรับสัตว์เลี้ยง MUMU Petguide ในโครงการ Smart Vet Smart Society เพื่อส่งเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้ดีขึ้น โดยจะมาร่วมตอบคำถามเรื่องสุขภาพที่พบบ่อยในสัตว์เลี้ยงโดยวันนี้คุณหมอจากคลินิกแมว โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อาสามาตอบ 10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการเลี้ยงแมวที่มักจะมีเจ้าของถามกันบ่อยๆ มาฝากกัน 10
เรื่องนี้ถ้ารู้แล้ว จะช่วยให้คุณเลี้ยงแมวได้ดีขึ้นอีกมากเลยล่ะ


CU feline center


แมวจำเป็นต้องทำวัคซีนอะไรบ้าง และเริ่มทำที่อายุประมาณเท่าไหร่

แมวเริ่มวัคซีนเข็มแรกที่อายุ 2 เดือน วัคซีนที่จำเป็นต้องทำสำหรับแมวประเทศไทยในปัจจุบันคือ โรคหัดหวัดแมว  โรคพิษสุนัขบ้า และโรคลิวคีเมีย (FeLV) โดยการจะทำวัคซีนของแมวแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์

การป้องกันเห็บหมัดในแมวมีวิธีอย่างไรบ้าง

ควรใช้ยาหยอดหลังที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องในการป้องกันเห็บหมัด โดยหยอดหลังแมวเป็นประจำทุกเดือน

แมวอาบน้ำได้หรือไม่

เคยมีความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์กลัวน้ำ ไม่สามารถอาบน้ำได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว เจ้าของสามารถอาบน้ำให้แมวได้ โดยอาจจะต้องฝึกให้อาบน้ำตั้งแต่แมวยังเด็ก ความถี่ในการอาบน้ำแมวต่างจากสุนัข เพราะแมวเป็นสัตว์รักสะอาด มักจะเลียตัวแต่งตัวอยู่เสมอ

การอาบน้ำให้แมวยังมีประโยชน์ในกรณีสำหรับการใช้รักษาโรคผิวหนังในแมวอีกด้วย

อาหารแบบไหนที่เหมาะสมสำหรับแมว

อาหารแมวมีทั้งรูปแบบของอาหารสำเร็จรูป และอาหารปรุงเอง (Homemade) ซึ่งแนะนำว่าอาหารสำเร็จรูปเหมาะสมกับแมวมากที่สุด เนื่องจากมีการคำนวณความต้องการ ของสารอาหารสำหรับแมวไว้อย่างครบถ้วน หากให้อาหารปรุงเอง อาจต้องมีการปรุงให้สารอาหารครบถ้วน มิเช่นนั้นอาจเกิดโรคต่างๆ จากสารอาหารที่ไม่เพียงพอได้


ควรมีชามน้ำชามอาหารและกระบะทรายจำนวนเท่าไหร่เพื่อให้เหมาะสมกับแมว

แมวเป็นสัตว์รักความสันโดษ จึงควรมีชามน้ำชามอาหารเป็นของตัวเอง และควรมีกระบะทรายให้แมวขับถ่ายมากกว่าจำนวนแมวที่เลี้ยง


การทำหมันช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวหรือการปัสสาวะไม่เป็นที่ของแมวได้จริงหรือไม่

การทำหมันจะลดการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดจึงมีผลให้พฤติกรรมก้าวร้าว หรือการปัสสาวะไม่เป็นที่ในแมวลดลงได้ แต่ในแมวบางตัวที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเป็นนิสัยการทำหมันอาจช่วยให้ลดลง แต่ไม่สามารถทำให้การแสดงออกเหล่านั้นหายไปได้

เราจำเป็นต้องตรวจโรคลิวคีเมีย (FeLV) และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (FIV) เมื่อใด

ปัจจุบันตามสถานพยาบาลสัตว์มีชุดทดสอบโรคไวรัสคือ โรคลิวคีเมีย (FeLV) และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (FIV) ซึ่งสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อเบื้องต้นก่อนแสดงอาการได้ จึงแนะนำให้ตรวจเมื่อนำแมวเข้ามาเลี้ยงใหม่ หรือก่อนทำวัคซีนโรคลิวคีเมีย (FeLV)

หากสังเกตว่าแมวมีความผิดปกติหรือมีอาการป่วย

ควรทำอย่างไรหรือให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรได้บ้าง ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ไม่ควรให้ยาหรือรักษาอาการเบื้องต้นก่อนทราบสาเหตุของโรค เพราะการให้ยาโดยไม่ทราบขนาด การออกฤทธิ์และผลข้างเคียงของยาอาจส่งผลเสียต่อแมวได้

โรคที่มักพบในแมวแก่มีอะไรบ้าง และสามารถเฝ้าระวังอาการได้อย่างไร

ในแมวแก่มักมีโรคที่พบจากความเสื่อมต่างๆ ได้ เช่น  โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเจ้าของแมวสามารถสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น โดยแมวมักมีอาการกินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ กินอาหารเยอะแต่ผอม ซึม ไม่มีแรง หากพบความผิดปกติควรรีบไปพบสัตวแพทย์

มีความจำเป็นต้องนำแมวที่มีสุขภาพดีมาตรวจสุขภาพหรือทำวัคซีนหรือไม่

แมวที่มีสุขภาพดีควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี ป้องกันเห็บหมัดทุกเดือน  และสามารถถ่ายพยาธิได้ทุก 3-6 เดือน อาจนำมาตรวจสุขภาพหรือเจาะเลือดประจำทุกปีเพื่อตรวจเช็คหาความ ผิดปกติเบื้องต้นก่อนที่แมวจะแสดงอาการป่วย